ชอบหน้านี้?

ข่าวไอที - สจล. นำร่องเปิดหลักสูตรวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ครบ 3 ด้านแห่งแรกของประเทศ

ข่าวประชาสัมพันธ์ - Press Release


ข่าวไอที - สจล. นำร่องเปิดหลักสูตรวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ครบ 3 ด้านแห่งแรกของประเทศ
ข่าวไอที - สจล. นำร่องเปิดหลักสูตรวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ครบ 3 ด้านแห่งแรกของประเทศ
33.3K เปิดอ่าน

ฟังข่าวนี้

สจล. นำร่องเปิดหลักสูตรวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ครบ 3 ด้านแห่งแรกของประเทศ

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่และมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมต่างๆ เนื่องจากอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตและเชื่อมโยงหลายอุตสาหกรรม เป็นชิ้นส่วนที่มีทั้งในอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงอุปกรณ์ที่ซับซ้อน ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวของตลาดเซมิคอนดักเตอร์เติบโตสูงขึ้นทั่วโลก เนื่องจากรัฐบาลทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นอย่างมาก

รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยได้ร่วมมือกับเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาและอุตสาหกรรม พัฒนาหลักสูตรเฉพาะทาง เช่น วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายใต้รูปแบบแซนด์บอกซ์ เพื่อผลิตบุคลากรทักษะสูงตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ สจล. ยังส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม Master of Innovation ซึ่งเป็นนโยบายที่สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ใหม่และพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านเซมิคอนดักเตอร์ในภูมิภาคเอเชีย”

รองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า “อนาคตของเซมิคอนดักเตอร์ยังคงมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากความต้องการในตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT), ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือเทคโนโลยี 5G ที่ต้องการชิปและวงจรที่มีประสิทธิภาพสูงและประหยัดพลังงานมากขึ้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้เริ่มนำร่องเปิดหลักสูตรแซนด์บอกซ์ “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นแห่งแรกในปีการศึกษา 2568 นี้ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางด้านการศึกษาตามแนวทาง Global Learning และ Global Citizen โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัทชั้นนำกว่า 11 องค์กร ทำให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. มีความพร้อมเป็นอย่างมากทั้งหลักสูตรที่ทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและห้องปฏิบัติการด้านเซมิคอนดักเตอร์ที่มีเครื่องมือที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมจริง พร้อมผลิตบุคลากรเฉพาะทางทักษะสูงที่มีคุณภาพรองรับตำแหน่งงานด้านเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งถือเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมในประเทศไทยต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เกรียงไกร สุขสุด หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้พูดถึงหลักสูตรวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ของภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สจล. ว่า เป็นหลักสูตรเดียวในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียที่มีเครื่อง I C Tester ซึ่งใช้สำหรับการตรวจสอบชิปเซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมจริง โดยบริษัท Analog Devices (Thailand) ร่วมกับบริษัท SPEA ส่งตรงจากประเทศอิตาลีให้นักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจากเครื่องที่ใช้ในอุตสาหกรรมจริง และยังเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ครบทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการออกแบบวงจรรวม 2. ด้านการผลิตอุปกรณ์ 3. ด้านการประกอบและทดสอบอุปกรณ์ โดยหลักสูตรวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีระยะเวลาเรียน 7 เทอมหรือ 3 ปีครึ่ง และนักศึกษาจะได้ทำโปรเจคร่วมกับบริษัทชั้นนำทางด้านเทคโนโลยีในเทอมสุดท้ายหรือไปศึกษาต่อที่ไต้หวันซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหญ่ของโลก นักศึกษาที่จบหลักสูตรนี้จะได้รับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาเซมิคอนดักเตอร์ (วศ.บ) น้องๆ ที่สนใจสามารถสมัครในรอบ TCAS 1 ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ - วันที่ 20 ธันวาคมนี้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่…

ภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.

โทร. 0-2329-8344

Email: ele.kmitl..info@gmail.com

www.ee.kmitl.ac.th

ประชาสัมพันธ์โดย : PIMDAWAN
วันที่ลงข่าว : 09-12-67

ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้จัดทำโดย pimdawan ซึ่งเป็นสมาชิกเว็บไซต์ของเรา ความคิดเห็นของผู้เขียนและเนื้อหาที่แบ่งปันในหน้านี้ถือเป็นความคิดเห็นของตนเอง และอาจไม่จำเป็นต้องแสดงถึงมุมมองของ นิวส์ไวร์ ประเทศไทย


แสดงความคิดเห็น :