ซิชั่น พีอาร์ นิวส์ไวร์ - CISION PR Newswire
มิลาน,, 25 กันยายน 2567 /PRNewswire/ -- การจัดงาน "Preserving the Brain" (ดูแลสมอง) ครั้งใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ "Human Brains" (สมองมนุษย์) ของ Fondazione Prada ซึ่งอุทิศตนให้กับวงการประสาทวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2561 นั้น จะมุ่งไปที่การป้องกันโรคทางระบบประสาทเสื่อม "Preserving the Brain: A Call to Action" จัดขึ้นโดยความร่วมมือกับสถาบันประสาทวิทยาศาสตร์ชั้นนำ 15 แห่งจากมหาวิทยาลัยระดับโลก รวมถึงองค์กรและสมาคมผู้ป่วย 5 แห่งในอิตาลี ประกอบด้วยการประชุมทางวิทยาศาสตร์ (16-17 ตุลาคม 2567) และนิทรรศการซึ่งจะมีการจัดประชุมต่อเนื่อง (16 ตุลาคม 2567 - 7 เมษายน 2568) ณ Fondazione Prada ในเมืองมิลาน
"Human Brains" เป็นผลลัพธ์จากการวิจัยเชิงลึกที่ทาง Fondazione Prada ได้ดำเนินการเอาไว้ ด้วยความสนใจอย่างลึกซึ้งในการทำความเข้าใจสมองมนุษย์ ความซับซ้อนของการทำงาน และความสำคัญของสมองในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ โปรเจกต์นี้พัฒนาโดยคณะกรรมการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาอย่าง Giancarlo Comi เป็นประธาน ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2563 โปรเจกต์นี้ได้จัดนิทรรศการ การประชุมทางวิทยาศาสตร์ การเสวนาสาธารณะ รวมถึงกิจกรรมออนไลน์และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง
งานนี้มีขึ้นต่อเนื่องจากเวที "Preserving the Brain" สองครั้งแรกที่เน้นเรื่องโรคทางระบบประสาทเสื่อม ซึ่งจัดขึ้นที่มิลานและเซี่ยงไฮ้ในปี 2565 และ 2566 โดยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการป้องกันและรักษาโรคที่พบได้บ่อยและยังไม่มีทางรักษาให้หายขาดตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคฮันติงตัน โรคพาร์กินสัน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
Miuccia Prada ประธานและผู้อำนวยการ Fondazione Prada กล่าวว่า "การจัดงาน 'Preserving the Brain' ครั้งใหม่นี้แสดงให้เห็นว่า เราจำเป็นต้องสร้างการสนทนาที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นระหว่างโลกวิทยาศาสตร์กับสาธารณชนผ่านสถาบันทางวัฒนธรรมอย่าง Fondazione Prada ประเด็นเรื่องการป้องกันและบทบาทเชิงรุกของวัฒนธรรมในด้านนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องส่งเสริมการวิจัยและเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ และโครงการปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม ซึ่งสามารถส่งผลต่อพฤติกรรมของเรา โดยให้ผู้ที่ต้องเผชิญกับโรคทางระบบประสาทเสื่อมในชีวิตประจำวันมีส่วนร่วม ไม่ใช่เพียงแค่มุมมองทางการแพทย์เท่านั้น เรารู้สึกยินดีที่เวทีระดับนานาชาตินี้ได้กลายเป็นงานที่จัดขึ้นประจำ ตามที่เราหวังไว้ตั้งแต่การจัดครั้งแรก เพื่อช่วยเชื่อมโยงศูนย์วิจัยต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และเชื่อมต่อกับชุมชนที่กว้างขวางและหลากหลายมากขึ้น"
โรคทางระบบประสาทเสื่อมมีลักษณะเฉพาะอยู่ที่ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งหากแก้ไขปัจจัยเหล่านี้แล้ว ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากทั้งในระดับบุคคลและสังคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นของโรคเหล่านี้ สิ่งสำคัญคือต้องจัดการกับปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนได้ ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ จัดกิจกรรมให้ความรู้ และดึงทุกภาคส่วนในสังคมรวมถึงสถาบันทางการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม นอกจากนี้ ความก้าวหน้าอย่างน่าทึ่งในการพัฒนาตัวบ่งชี้ทางพันธุกรรมและชีวภาพสำหรับโรคเหล่านี้ ยังช่วยให้เราเห็นบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อโรคเฉพาะได้ ทำให้เริ่มใช้กลยุทธ์การป้องกันระดับทุติยภูมิ ซึ่งอาจรวมถึงการใช้แนวทางรักษาเฉพาะทางได้
ด้วยเหตุนี้ "Preserving the Brain: A Call to Action" จึงได้เชิญศูนย์วิจัยชั้นนำ นักวิชาการ สมาคมผู้ป่วย องค์กรในแวดวงสุขภาพสมอง รวมถึงตัวแทนจากสถาบันต่าง ๆ เข้าร่วม โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อส่งเสริมการดำเนินการเฉพาะเจาะจงที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยที่ปรับเปลี่ยนได้ของโรคทางระบบประสาทเสื่อม นำไปสู่ "การเรียกร้องให้ลงมือทำ" ที่มุ่งเน้นไปยังประชากรในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่
ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ Giancarlo Comi ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัย Università Vita-Salute San Raffaele ในมิลาน และประธานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ของ "Preserving the Brain" เน้นย้ำว่า "สมองและการทำงานของระบบประสาทคือสิ่งที่กำหนดและแยกแยะความเป็นมนุษย์ของเรา โรคทางระบบประสาทเสื่อมที่อาจก่อให้เกิดความบกพร่องทางประสาทสัมผัส การเคลื่อนไหว และการรู้คิด เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในชีวิตด้านต่าง ๆ โรคเหล่านี้มีรากเหง้ามาจากอดีตอันไกลโพ้น ซึ่งเพิ่งจะเริ่มค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ แทบทุกครั้ง โรคเหล่านี้เกิดจากการรวมตัวของปัจจัยหลายอย่าง ทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม การป้องกันซึ่งหมายถึงการค้นพบรากเหง้าเหล่านี้ ช่วยยับยั้งผลลัพธ์ที่จะตามมาได้ บางรากเหง้านั้นเราปลูกขึ้นเอง ดังนั้นแต่ละคนจึงต้องมีบทบาทโดยตรงในกระบวนการป้องกัน นั่นหมายความว่า แต่ละคนต้องมีบทบาทเชิงรุกไม่เพียงแค่ตอนที่เป็นโรคแล้ว แต่ตั้งแต่การป้องกันไม่ให้เกิดโรค โดยนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์ที่จัดขึ้นในรูปแบบที่บุคคลทั่วไปเข้าถึงง่าย และการประชุมที่จัดร่วมกับองค์กรและสมาคมผู้ป่วยนี้ มีเป้าหมายเพื่อดึงชุมชนทั้งหมดและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้กับโรคทางระบบประสาทเสื่อม"
สื่อมวลชนติดต่อได้ทาง
FONDAZIONE PRADA – PRESS OFFICE
อีเมล: PRESS@FONDAZIONEPRADA.ORG
หมายเลขโทรศัพท์: +39 02 56 66 26 34
รูปภาพ - https://mma.prnasia.com/media2/2508737/Preserving_the_brain.jpg?p=medium600
โลโก้ - https://mma.prnasia.com/media2/2508738/FP__Logo.jpg?p=medium600
แสดงความคิดเห็น :