พีอาร์ นิวส์ไวร์

นิวส์ไวร์ ประเทศไทย x พีอาร์ นิวส์ไวร์

พีอาร์ นิวส์ไวร์ - ธนาคารและสถาบันการเงินรายใหญ่ระดับโลก 14 แห่งให้การสนับสนุนความพยายามเพิ่มพลังงานนิวเคลียร์เป็นสามเท่าภายในปี 2593

ซิชั่น พีอาร์ นิวส์ไวร์ - CISION PR Newswire


ชอบหน้านี้?

-  ในการหารือนอกรอบระหว่างงาน Climate Week ที่นครนิวยอร์ก บรรดาธนาคารรายใหญ่ ตัวแทนรัฐบาล และผู้บริหารในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้การยอมรับบทบาทของพลังงานนิวเคลียร์ที่สามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานทั่วโลก

-  พลังงานนิวเคลียร์ถูกรวมอยู่ในผลลัพธ์ที่สำคัญจากการประเมินผลความคืบหน้าทั่วโลกครั้งแรกภายใต้ข้อตกลงปารีส

-  การปรับปรุงให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นสามารถช่วยปลดล็อกศักยภาพของพลังงานนิวเคลียร์ที่จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างมาก เพื่อผลิตพลังงานและความร้อนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

นิวยอร์ก, 23 กันยายน 2567 /PRNewswire/ -- วันนี้ ประเทศต่าง ๆ ที่สนับสนุน "ปฏิญญาเพื่อการเพิ่มพลังงานนิวเคลียร์เป็นสามเท่า" (Declaration to Triple Nuclear Energy) ที่เปิดตัวในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 หรือ COP28 ในปี 2566 ได้เข้าร่วมกับสถาบันการเงิน 14 แห่งที่แสดงการสนับสนุนเพื่อเรียกร้องให้เพิ่มความสามารถผลิตพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลกเป็นสามเท่าภายในปี 2593

กลุ่มสถาบันการเงินที่เข้าร่วมในงานประชุมประกอบด้วย Abu Dhabi Commercial Bank, Ares Management, Bank of America, Barclays, BNP Paribas, Brookfield, Citi, Credit Agricole CIB, Goldman Sachs, Guggenheim Securities LLC, Morgan Stanley, Rothschild & Co., Segra Capital Management และ Societe Generale

สถาบันการเงินเหล่านี้ยอมรับว่าโครงการพลังงานนิวเคลียร์สำหรับพลเรือนทั่วโลกมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ นอกจากนี้ พวกเขายังแสดงการสนับสนุนวัตถุประสงค์ระยะยาวในการเพิ่มการผลิตพลังงานนิวเคลียร์และการขยายอุตสาหกรรมนิวเคลียร์โดยรวม เพื่อเร่งการผลิตพลังงานสะอาดและสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

งานนี้กล่าวเปิดงานโดย John Podesta ที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ โดยจัดขึ้นที่ร็อคกี้เฟลเลอร์เซ็นเตอร์ (Rockefeller Center) ในนครนิวยอร์ก โดยมีผู้นำระดับสูงของรัฐ รัฐมนตรี และผู้นำจากอุตสาหกรรมนิวเคลียร์และการเงิน รวมถึงผู้บริหารอุตสาหกรรมหนักและที่ต้องใช้พลังงานสูงเข้าร่วม เพื่อให้การยอมรับบทบาทของภาคเอกชนในการสนับสนุนความพยายามระดับโลกเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนจากโครงข่ายพลังงานไฟฟ้า

"ภารกิจร่วมกันของเรามีความชัดเจน นั่นคือ พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาด และหากเราต้องการให้โลกของเราเป็นสถานที่น่าอยู่ สร้างห่วงโซ่อุปทานพลังงานสะอาดที่มั่นคงและยั่งยืน และเสริมสร้างให้เกิดความมั่งคั่งทั่วโลก เราก็จำเป็นต้องให้พลังงานนิวเคลียร์เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้" John Podesta ที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศกล่าว "ผมรู้ว่าเราทำให้สิ่งนี้เป็นจริงได้ หากเราร่วมมือกันทำงาน"

ตลาดทุนและการเงินสามารถมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและขยายโครงการพลังงานนิวเคลียร์ให้เติบโตทั่วโลก โดยสถาบันการเงินสามารถมอบประสบการณ์ เครือข่ายระดับโลก บริการ และโซลูชันต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ได้

การแสดงการสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ครั้งนี้ต่อยอดมาจากผลลัพธ์ของการประเมินผลความคืบหน้าทั่วโลกครั้งแรกภายใต้ข้อตกลงปารีส ในเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งได้รวมพลังงานนิวเคลียร์ไว้ในหมวดเทคโนโลยีที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนและปล่อยในระดับต่ำที่รัฐภาคีควรเร่งดำเนินการ เช่นเดียวกับปฏิญญาเพื่อการเพิ่มพลังงานนิวเคลียร์เป็นสามเท่า ซึ่งเปิดตัวที่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 และได้รับการสนับสนุนจาก 25 ประเทศ

"ปัญหาที่เหลืออยู่ให้แก้ไขก็คือด้านการเงินและต้นทุนทางการเงิน" ดร. Robert Golob นายกรัฐมนตรีสโลวีเนียกล่าว "ตลาดการเงินจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อให้พลังงานนิวเคลียร์สามารถแข่งขันกับแหล่งพลังงานที่ปลอดคาร์บอนอื่น ๆ ได้"

"ถึงเวลาที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อขยายเพิ่มการใช้พลังงานนิวเคลียร์ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น" Ebba Busch รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ธุรกิจ และอุตสาหกรรม และรองนายกรัฐมนตรีของสวีเดนกล่าว "รัฐบาลสวีเดนกำลังสำรวจรูปแบบการจัดหาเงินทุนที่เสนอ ซึ่งรวมถึงเงินกู้ที่รัฐบาลสนับสนุน สัญญาการซื้อขายส่วนต่าง (Contracts-for-Difference: CfDs) และกลไกการแบ่งปันความเสี่ยง โดยเป้าหมายของข้อเสนอนี้ คือเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ในสวีเดนให้มีประสิทธิภาพขึ้น และสิ่งนี้ก็เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น"

"พลังงานนิวเคลียร์ใหม่ทั้งสะอาดและปลอดภัย และที่สำคัญกว่านั้นคือได้รับการพิสูจน์แล้ว โดยมีหลายประเทศที่ในปัจจุบันใช้งานเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิชชั่นรุ่นที่สามและสี่ที่ 'มีความสามารถสร้างรายได้เชิงพาณิชย์' และเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง" James Schaefer กรรมการผู้จัดการอาวุโสของ Guggenheim Securities กล่าว "สิ่งสำคัญคือ เราต้องเร่งความคืบหน้าของโครงการที่วางแผนไว้ให้กลายเป็นโรงงานที่สร้างขึ้นและใช้งานจริง เนื่องจากความต้องการมหาศาลที่มีต่อศูนย์ข้อมูลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยจะต้องใช้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างบริษัทนิวเคลียร์ เจ้าของโรงไฟฟ้า บริษัทเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูล พร้อมทั้งธนาคารและสถาบันการเงิน"

ในปฏิญญาฉบับนี้ ประเทศเหล่านี้ตระหนักถึงความสำคัญของการระดมเงินทุนและการลงทุนสำหรับพลังงานนิวเคลียร์เพื่อช่วยไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในนโยบายภูมิอากาศระดับโลก และกระตุ้นให้เกิดการสนทนาเกี่ยวกับบทบาทของพลังงานนิวเคลียร์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

"การรวมพลังงานนิวเคลียร์ให้เป็นเทคโนโลยีปลอดคาร์บอนควบคู่ไปกับพลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนของโลก และรับรองว่าผู้ผลิตอุตสาหกรรมหนักเช่น Nucor จะมีแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อถือได้และสะอาด เพื่อให้สามารถเติบโต ประสบความสำเร็จ และสร้างงานที่มีค่าตอบแทนสูงได้อย่างต่อเนื่อง" Benjamin M. Pickett รองประธานและผู้จัดการทั่วไปฝ่ายกิจการสาธารณะและรัฐบาลสัมพันธ์ของ Nucor Corporation กล่าว

"นับตั้งแต่งาน COP 28 ที่จัดในดูไบเมื่อปีที่แล้ว เราก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านแรงกระตุ้นอย่างชัดเจนทั่วทั้งภาคพลังงานนิวเคลียร์ โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานสะอาดสำหรับศูนย์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งคาดว่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าสำหรับภาคธุรกิจนี้เพียงอย่างเดียวจะเพิ่มเป็นสองเท่าภายในปี 2569" Mohamed Al Hammadi กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Emirates Nuclear Energy Corporation กล่าว "ด้วยการสนับสนุนจาก 14 ธนาคารและสถาบันการเงินระดับโลกช่วงเช้าวันนี้ ในการหารือนอกรอบระหว่างงาน Climate Week ที่นครนิวยอร์ก จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพลังงานนิวเคลียร์ไม่เพียงแต่ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคพลังงานเท่านั้น แต่ยังตรงตามลักษณะของการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนและเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้เราได้เห็นว่ามีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่งถูกสร้างขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถสร้างความมั่นใจให้กับตลาด และส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าพลังงานนิวเคลียร์เป็นเส้นทางที่ได้รับการพิสูจน์แล้วและมีศักยภาพทางการเงิน เพื่อไปสู่ความมั่นคงทางพลังงานและการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ไปพร้อมกัน"

ประเทศทั้ง 25 แห่งที่สนับสนุนปฏิญญาเพื่อการเพิ่มพลังงานนิวเคลียร์เป็นสามเท่า ได้แก่ อาร์เมเนีย บัลแกเรีย แคนาดา โครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส กานา ฮังการี จาเมกา ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มอลโดวา มองโกเลีย โมร็อกโก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย สวีเดน ยูเครน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา


ที่มา : ซิชั่น พีอาร์ นิวส์ไวร์ - ธนาคารและสถาบันการเงินรายใหญ่ระดับโลก 14 แห่งให้การสนับสนุนความพยายามเพิ่มพลังงานนิวเคลียร์เป็นสามเท่าภายในปี 2593 https://www.prnasia.com/asia-story/archive/4512911_TH12911_10

ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้จัดทำโดย ซิชั่น พีอาร์ นิวส์ไวร์ ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านข่าวของเรา ความคิดเห็นของผู้เขียนและเนื้อหาที่แบ่งปันในหน้านี้ถือเป็นความคิดเห็นของตนเอง และอาจไม่จำเป็นต้องแสดงถึงมุมมองของ นิวส์ไวร์ ประเทศไทย


แสดงความคิดเห็น :