ซิชั่น พีอาร์ นิวส์ไวร์ - CISION PR Newswire
รายงาน Green Power Gap ประเมินกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่จำเป็นต้องผลิตได้ภายในปี 2593 เพื่อให้ประเทศเหล่านี้บรรลุเป้าหมายระดับโลกในการพัฒนาและการรับมือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ระบุ 4 แนวทางใหม่ จากการขาดแคลนพลังงานเพื่อลดช่องว่างให้ประชากร 3.8 พันล้านคนในแอฟริกา เอเชีย ละตินอเมริกา และตะวันออกกลาง
กรุงเทพมหานคร, 7 ส.ค. 2567 /PRNewswire/ -- มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockerfeller Foundation) เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ซึ่งประมาณการ "ช่องว่างพลังงานสีเขียว" หรือ "Green Power Gap" ปริมาณ 8,700 เทราวัตต์ชั่วโมง (TWh) ใน 72 ประเทศในแอฟริกา เอเชีย ละตินอเมริกาและแคริบเบียน และตะวันออกกลาง ปัจจุบันประเทศเหล่านี้มีประชากร 3.8 พันล้านคน โดยจะจำเป็นต้องใช้พลังงานสะอาด 8,700 เทราวัตต์ชั่วโมงภายในปี 2593 ซึ่งมากกว่าการผลิตไฟฟ้าต่อปีของสหรัฐอเมริกาประมาณสองเท่า เพื่อก้าวกระโดดจากระบบพลังงานแบบดั้งเดิมที่มีราคาแพงและไม่มีประสิทธิภาพไปสู่อนาคตที่มีพลังงานอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ รายงานช่องว่างพลังงานสีเขียว: การบรรลุอนาคตที่ทุกคนมีพลังงานใช้ ยังระบุถึงโอกาสสีเขียวและกำหนดสี่แนวทางใหม่ในการปิดช่องว่างดังกล่าวอีกด้วย
"ชะตากรรมของผู้คน 3,800 ล้านคนและโลกทั้งใบจะขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถปิดช่องว่างพลังงานสีเขียวได้หรือไม่" ดร. Rajiv J. Shah ประธานมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ กล่าว "ประวัติศาสตร์ทำให้เป็นที่ประจักษ์ว่าผู้คนและประเทศต่าง ๆ จะแสวงหาโอกาสโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสภาพอากาศ วิธีเดียวที่จะบรรลุเป้าหมายการรับมือสภาพอากาศของโลกได้คือการขยายขอบเขตการแก้ปัญหาและระดมเงินทุนที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าผู้คน 3,800 ล้านคนจะมีไฟฟ้าสะอาดใช้อย่างเพียงพอที่จะยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของตนได้"
72 ประเทศที่มีการวิเคราะห์ในรายงานประกอบด้วย 68 ประเทศที่มีการใช้พลังงานน้อยกว่าพลังงานขั้นต่ำสำหรับยุคใหม่ (Modern Energy Minimum หรือ MEM) ซึ่งหมายถึงมีการใช้พลังงานเฉลี่ยต่อหัวต่อปีน้อยกว่า 1,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ซึ่งจำเป็นต่อการช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน สร้างงาน และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ นอกจากนี้ รายงานยังรวมอีก 4 ประเทศ* ที่ใช้พลังงานเกินเกณฑ์ MEM แต่จัดอยู่ในกลุ่ม "ขาดแคลนพลังงาน" เนื่องจากประชากรจำนวนมากยังคงใช้พลังงานต่ำกว่าเกณฑ์ MEM อย่างมาก
มีเพียงแปดจากทั้งหมด 72 ประเทศในละตินอเมริกาและแคริบเบียน (โบลิเวีย เอลซัลวาดอร์* กัวเตมาลา เฮติ ฮอนดูรัส และนิการากัว) และตะวันออกกลาง (ซีเรียและเยเมน) โดยมี 44 ประเทศในแอฟริกา และ 20 ประเทศในเอเชีย
เอเชีย:
1) อัฟกานิสถาน
2) บังกลาเทศ
3) กัมพูชา
4) อินเดีย*
5) อินโดนีเซีย*
6) คิริบาส
7) ไมโครนีเซีย
8) เมียนมา
9) เนปาล
10) เกาหลีเหนือ
11) ปากีสถาน
12) ปาปัวนิวกินี
13) ฟิลิปปินส์
14) ซามัว
15) หมู่เกาะโซโลมอน
16) ศรีลังกา
17) ติมอร์ตะวันออก
18) ตองกา
19) ตูวาลู
20) วานูวาตู
Deepali Khanna รองประธานและหัวหน้าสำนักงานภูมิภาคเอเชียของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์กล่าวว่า "แม้ว่าจะไม่มีเฉลยคำตอบที่จะนำพาทุกคนไปสู่อนาคตที่มีพลังงานสะอาดใช้อย่างอุดมสมบูรณ์ แต่เราเชื่อว่ามี 'โอกาสสีเขียว' อยู่ โดยอาศัยสินทรัพย์ระบบพลังงานที่มีอยู่และแหล่งพลังงานหมุนเวียนในเอเชีย ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะอินเดียและอินโดนีเซียกำลังปูทางด้วยการปรับใช้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน"
ประเมินช่องว่างพลังงานสีเขียว
ในรายงานครั้งนี้ มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์จัดประเทศสมาชิกสหประชาชาติจำนวน 193 ประเทศออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) "ประเทศเศรษฐกิจขั้นสูง" ได้แก่ 55 ประเทศที่ธนาคารโลกกำหนดให้เป็นประเทศรายได้สูง (2) "ประเทศขาดแคลนพลังงาน" หมายถึง 68 ประเทศที่ขาดแคลนพลังงานบวกกับอีก 4 ประเทศ* ที่ระบุไว้ข้างต้น และ (3) "ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่" หมายถึง 66 ประเทศที่อยู่ระหว่าง 2 ประเภทข้างต้น (กลุ่มนี้ยังพบว่ามีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเกือบ 4,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปีในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศ "ขาดแคลนพลังงาน" ที่เพิ่มขึ้นเพียง 500 กิโลวัตต์ชั่วโมง)
ช่องว่างพลังงานสีเขียวคำนวณโดยพิจารณาว่าโลกสามารถปล่อยคาร์บอนได้มากเพียงใด โดยที่ยังคงรักษาอุณหภูมิโลกให้อยู่ต่ำกว่า 1.75°C ได้และคำนึงถึงการเติบโตของประชากรและเป้าหมายการพัฒนา นอกจากนี้ ยังถือว่าประเทศ "เศรษฐกิจขั้นสูง" 55 ประเทศและประเทศ "เศรษฐกิจเกิดใหม่" 66 ประเทศจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2593 และ 2603 ตามลำดับ
จากการคำนวณดังกล่าว งบประมาณคาร์บอนที่เหลืออยู่ 207 กิกะตัน (GT) ในสถานการณ์นี้ทำให้มีโอกาสเพียงพอสำหรับประเทศ "ขาดแคลนพลังงาน" 72 ประเทศในการเติบโต หากเน้นเฉพาะภาคพลังงาน การผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลสามารถเติบโตได้ในระดับปานกลางในระยะใกล้ แต่ในระยะยาว พลังงานสีเขียวจะต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในปี 2573 ประมาณสองในสามของการผลิตทั้งหมดอาจยังคงมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศขาดแคลนพลังงาน แต่ภายในปี 2583 อัตราส่วนดังกล่าวจะต้องลดลงเหลือ 30% และต้องบรรลุเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2613
สี่แนวทางปิดช่องว่าง
การที่จะมีพลังงานให้ใช้เหลือเฟือให้ได้นั้นต้องอาศัยการผสมผสานเทคโนโลยี แต่การผสมผสานนั้นจะแตกต่างกันอย่างมากขึ้นอยู่กับทรัพยากรและความต้องการของแต่ละประเทศ สินทรัพย์ระบบพลังงานที่มีอยู่และความพร้อมใช้งานของสินทรัพย์พลังงานหมุนเวียนในแต่ละประเทศจะกำหนดว่าโอกาสในการก้าวกระโดดสีเขียวประเภทใดที่เป็นไปได้มากที่สุด จากข้อมูลนี้ รายงานฉบับนี้ได้ระบุสี่แนวทางสู่ความอุดมสมบูรณ์ของพลังงานสะอาดที่เกิดขึ้นได้จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้แก่:
การสร้างโครงข่ายไฟฟ้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแบบค่อยเป็นค่อยไป: แนวทางนี้เหมาะที่จะใช้ในประเทศอย่างอินเดียที่ได้พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าและสินทรัพย์การผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบรวมศูนย์จำนวนมาก การพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนแบบโครงข่ายไฟฟ้าผสม: แนวทางนี้เหมาะกับประเทศเช่นไนจีเรียที่มีโครงข่ายไฟฟ้าและความสามารถในการผลิตจำกัด แต่มีความหนาแน่นของประชากรสูง การจัดเก็บพลังงานแสงอาทิตย์แบบกระจาย: แนวทางนี้เหมาะสำหรับประเทศต่าง ๆ เช่น บูร์กินาฟาโซ ซึ่งมีแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ชั้นยอด แต่การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าและการเข้าถึงแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ยังมีจำกัด การผสมผสานพลังงานหมุนเวียนแบบกระจาย: แนวทางนี้เหมาะสำหรับประเทศต่าง ๆ เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกที่มีโครงข่ายไฟฟ้าและสินทรัพย์ด้านการผลิตไฟฟ้าจำกัด แต่มีทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนคุณภาพสูงที่หลากหลาย
"การปิดช่องว่างพลังงานสีเขียวเป็นประโยชน์ต่อทุกประเทศ" ดร. Joseph Curtin กรรมการผู้จัดการทีมพลังงานและสภาพอากาศของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์และผู้เขียนร่วมกล่าว "นอกจากนี้ ทั้ง 72 ประเทศนี้มีแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่เหนือกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในปริมาณมากอยู่แล้ว ดังนั้น แทนที่จะเดินตามแนวทางที่ประเทศเศรษฐกิจขั้นสูงหลายแห่งเคยใช้ ประเทศเหล่านี้ก็มีโอกาสในการก้าวกระโดดไปสู่ระบบพลังงานที่สะอาดกว่า คล่องตัวกว่า และยืดหยุ่นกว่า"
มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ตั้งเป้าที่จะสำรวจแนวทางที่ต่างกันเหล่านี้ในรายละเอียดมากขึ้นในการวิเคราะห์ในอนาคต
เกี่ยวกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์
มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์เป็นองค์กรการกุศลที่ริเริ่มขึ้นจากความร่วมมือแถวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งช่วยให้บุคคล ครอบครัว และชุมชนต่าง ๆ สามารถเติบโตได้ เราทุ่มเงินมหาศาลเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติ ปัจจุบัน เราเน้นการส่งเสริมโอกาสของมนุษย์และแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงด้วยการเปลี่ยนแปลงระบบอาหาร สุขภาพ พลังงาน และการเงิน หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สมัครรับจดหมายข่าวของเราได้ที่ www.rockefellerfoundation.org/subscribe และติดตามเราบน X @RockefellerFdn และ LI @the-rockefeller-foundation
นอกจากศูนย์การประชุมในเมืองเบลลาจิโอ ประเทศอิตาลีแล้ว มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ยังมีสำนักงานในสหรัฐอเมริกาในนครนิวยอร์กและวอชิงตัน ดี.ซี. และมีสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย สำหรับการทำงานในเอเชีย และมีสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคอีกแห่งที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา สำหรับการทำงานในทวีปแอฟริกา
แสดงความคิดเห็น :